Thursday, April 25, 2013

Creativity fatigue

สองสามวันมานี้ เพลียเป็นพิเศษยังไงชอบกล

รู้สึกเหนื่อยสมอง นอนหลับไม่สนิท ตื่นมาแล้วหัวไม่โล่ง
ช่วงนี้สิ่งที่ต้องทำมันเยอะ 
และมันไม่ใช่ความงานยุ่งในรูปแบบเดิมๆ อย่างที่เคยเป็น
นั่นคือ โดยปกติ ต่อให้ต้องทำหนังสือ 10 เล่ม 
ก็ยังนับเป็นสิ่งเดียว คือการทำหนังสือ
แต่ตอนนี้ต้องทำหลายโปรเจ็กต์ หลายสิ่งอย่างชนิดพันธุ์
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ งานที่เคยชอบ นั่นคืองานสร้างสรรค์
เริ่มกลายเป็นสิ่งที่สนุกน้อยลงเรื่อยๆ
เพราะมีความรู้สึกว่า ครีเอทีฟไอเดียแม่งหมดถัง
จากที่ต่อมสร้างสรรค์เคยลัลล้า 
ตอนนี้ต่อมสร้างสรรค์แม่งล้า

อุปสรรคที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความกังวลใจว่าจะไม่สำเร็จ
แต่เป็นความรู้สึกโดนความไม่ถูกใจในสิ่งที่ตัวเองคิดบั่นทอน
และด้วยความที่ต้องทำหลายอย่าง
มันเลยไม่มีโอกาสทำอะไรให้เสร็จเป็นอันๆ ไป
เคลียร์สิ่งต่างๆ ให้สำเร็จไปทีละก้อน
ปัจจุบันนี้คือ มี 5 สิ่งที่คั่งค้าง และยังรอการสะสาง
มันสนุกน้อยลง แต่ละคืนเลยหลับไม่สนิทอย่างว่า

 สังเกตตัวเองว่า ตอนนี้เกมที่เล่นบ่อยคือ Solitaire
 เพราะอยากให้สมองพักเรื่องการสร้างสรรค์เสียบ้าง
 อยากทำอะไรแบบโง่ๆ ง่าวๆ
หรือทำงานที่ใช้มือ ใช้แรง แต่ไม่ใช้ความคิด 
สมองจะได้พักผ่อน
ที่จริงนี่น่าจะเป็นข้ออ้างชั้นเยี่ยมในการกลับไปชกมวยนะ

วันนี้อาการหนักขึ้นอีก เลยเริ่มกังวล
ลองเสิร์ชโดยใช้คำที่คิดเองมั่วๆ ว่า Creativity fatigue
เพราะคิดเอาเองว่า ตัวเองล้ากับเรื่องครีเอทีฟ
ปรากฏคำนี้แม่งมีจริงๆ เว้ย 
เมื่ออ่านดู ก็รู้สึกว่าน่าสนมาก
อันแรกที่อ่านเป็นบทความทางการศึกษา
เขานิยามไว้ใกล้เคียงกับที่เดาไว้
นั่นคือ เป็นภาวะอิ่มตัวทางการเรียนรู้และสร้างสรรค์
อาจเพราะรู้สึกตามโลกไม่ทัน 
เช่นครูบาอาจารย์ที่สอนชั้นประถมมาตลอดชีวิต
อยู่กับตำราเล่มเดิมมาตลอดชาติ
จนวันหนึ่ง ก็ตามเด็กไม่ทัน รู้สึกตกยุค ตกรุ่น
ไม่รู้ว่ามีอะไรใหม่ข้างนอกนั้นบ้าง
พอยื่นหน้าออกไปดู ก็เจออะไรต่อมิอะไรเยอะมาก
จนไม่รู้จะเริ่มตรงไหนก่อน 
หรือไม่คิดว่าตัวเองจะเปิดหัวรับได้ไหว
ประมาณว่าแค่เห็นสิ่งใหม่ๆ ก็เหนื่อยใจแล้ว

แต่ก็ได้ไปเจอบทความที่ตรงกับการงานของเรามากกว่านั้น
ที่เว็บชือ justeffing.com บทความเขียนโดย Julie Gray
เธอเป็นนักเขียน เป็นบล็อกเกอร์ 
เป็นครูสอนเขียนบท (a screenwriting teacher)
และที่ปรึกษาด้านการเขียนนิยาย (a novel and script consultant)

(ตัดตอนที่ชอบเอาไว้อ้างอิงภายหลัง)

"We have to make regular writing/brainstorming/outlining time in our day to day, we know that, right? But we also have to know when it’s enough for that day. Because pushing it beyond the limits of having fun kills creativity. You’ll start to generate bad ideas, you’ll start to mess up what you had done with your story...”

“...So make sure you quit when you’re ahead. For whatever reason, Creativity Fatigue kicks in at some point and you have to recognize it and be okay with walking away from it for that day..."

“...Most of us creatives – and I include musicians, poets, writers and artists in that – get ideas and breakthroughs and inspirations when we aren’t even trying. We have to be still to let it in sometimes...”

“...So if you’re writing and you suddenly feel the walls closing in, if your ideas are drying up, if you’re not having fun anymore – walk away. Go do something else. Just put your behind in that chair again tomorrow and trust that in between, your brain really is still working out the problem. It will save you the awful feeling of Creative Fatigue, it could save your script from some really bad decisions and hey – how many other people in life get to walk away from the work and know the brain will still figure it out? It’s pretty cool...”

สรุปสั้นๆ จูลี่บอกว่า เราต้องรู้ตัวเองว่า 
วันนี้คิดพอแล้ว และหยุดซะ 
เพราะถ้ายังเค้นต่อไป เราอาจจะถูกบังคับให้ยอมรับไอเดียห่วยๆ 
ที่เราจะกลับมายี้เองในวันรุ่งขึ้น

นักคิดส่วนใหญ่จะผุดไอเดียดีๆ 
ในยามที่ไม่ได้พยายามฝืนปลิ้นคั้นมันออกมา
ดังนั้น เราต้องเชื่อใจสมองของเราว่า
ในวันพรุ่งนี้ มันจะยังกลับมาให้อะไรแจ๋วๆ กับเราได้เหมือนเดิม

อ่านหลายรอบ ตั้งสติ แล้วคิดดูดีๆ ก็พบว่า
อืม กูเป็นแบบนี้แหละ แต่มันเรื้อรัง
ใช่ ต้องเรียกมันว่า ภาวะสมองส่วนสร้างสรรค์อ่อนล้าเรื้อรัง

ส่วนหนึ่ง ปัญหาของผมก็เหมือนครูประถม
คือพยายามก้มหน้าก้มตาผลิตนักเรียนดีๆ ออกมาเรื่อยๆ
แต่ไม่ได้พัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพที่ดีขึ้นด้วยในระยะยาว
เอาง่ายๆ ปัญหาคลาสสิก
เวลาและสมาธิจะอ่านหนังสืออื่นๆ ต่างๆ ยังจะไม่มีเลย

ตอนนี้ คิดอยากดึงตัวเองออกจากวัฏจักรรูทีน
แล้วออกท่องยุทธภพเพื่อฝึกวิชาใหม่ๆ ให้เก่งขึ้น
และนั่นเป็นคำตอบของสิ่งที่ควรทำต่อไปในชีวิต
หนึ่ง ต้องหาคนมาสานต่องานประจำ
สอง เตรียมตัวเองให้พร้อมเรื่องการเงิน

ผมไม่ได้คิดไปถึงการลาออกจากอะบุ๊กเลยนะ
เพียงแต่ไม่อยากให้ตัวเองวนอยู่ในอ่าง

ก็กลายเป็นความโชคดี 
ที่การมีโปรเจ็กต์หลากหลายเข้ามายังงี้
มันทำให้เรารู้ตัว เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า
ต้นทุนทางวัตถุดิบที่มีอยู่ในตัวตอนนี้น่ะ 
มันไม่พอเสียแล้ว


2 พฤษภาคมที่จะถึงนี้
ครบรอบการทำงาน 6 ปี ที่สำนักพิมพ์อะบุ๊ก


No comments:

Post a Comment